หลักการและเหตุผล

     การขับเคลื่อนของกรุงเทพมหานครในปัจจุบันมีการพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพแต่มีปัญหาส่วนใหญ่คือ การขาดความเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) กับพันธกิจองค์กร (Business) ซึ่งเป็นผลก่อให้เกิดความล้มเหลวของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในองค์กร อาทิ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่จัดซื้อด้วยราคาแพงแต่ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ไม่สอดคล้องกับกระบวนการทางพันธกิจ (Business Process) วิสัยทัศน์ทางธุรกิจ (Business Vision) ขององค์กร รวมทั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมีความซับซ้อนเกินความจำเป็น นอกจากนี้ สถานการณ์การดำเนินการของหน่วยงานในปัจจุบันมีการปฏิบัติงานหลายขั้นตอนใช้กระดาษเป็นจำนวนมาก โปรแกรมการปฏิบัติงานไม่ครอบคลุมถึงกระบวนการตามภารกิจที่สำคัญ ข้อมูลมีการจัดเก็บซ้ำซ้อนและขาดผู้รับผิดชอบสำหรับข้อมูลที่ใช้งานร่วมกัน

     ทั้งนี้ในแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกรุงเทพมหานคร ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) เสนอแนวทางเพื่อการบริหารยุทธศาสตร์องค์กรเพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างแผนแม่บทฯ และภารกิจขององค์กรในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรในด้านต่าง ๆ ได้อย่างคุ้มค่า อาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นต้น เพื่อให้รองรับกับการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์และสังคมดิจิทัล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหน่วยงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและแผนพัฒนาประเทศ

     ดังนั้น การนำสถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture : EA) ซึ่งเป็นแนวความคิดใหม่ที่บูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับพันธกิจขององค์กรอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การกำหนดโจทย์การบริการการวิเคราะห์สถาปัตยกรรมธุรกิจ (Business Architecture) เพื่อออกแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เชื่อมโยงกับการดำเนินงานได้อย่างสอดคล้องและมีประสิทธิภาพทั้งในระดับสถาปัตยกรรม ไปจนถึงแนวทางการพัฒนา (Roadmap) ขององค์กรมาดำเนินการ เพื่อผลักดันให้องค์กรสามารถดำเนินการตามนโยบายและวิสัยทัศน์ขององค์กรที่กำหนดไว้ ซึ่งกรุงเทพมหานครยึดแนวทางการพัฒนาดิจิทัลของหน่วยงานโดยพัฒนาและให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และผลักดันให้เกิดการพัฒนาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืนตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกรุงเทพมหานคร ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) ความสำคัญดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นได้จากผลการจัดลำดับความสำคัญของมหาวิทยาลัย Waseda ในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดลำดับอยู่ในอันดับที่ 21 ของประเทศที่มีศักยภาพพร้อม ในการเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์จากทั้งหมด 55 ประเทศทั่วโลก ผลดังกล่าวสามารถชี้ได้ว่ากรุงเทพฯ ในฐานะเมืองหลวงต้องเร่งพัฒนาเพื่อก้าวข้ามบริบทต่าง ๆ ให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เพิ่มขีดจำกัดของการทำงาน รวมถึงสร้างสรรค์นวัตกรรม

     เพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะให้ประสบความสำเร็จหน่วยงานปฏิบัติจึงต้องมีการพัฒนามาตรฐาน กำหนดสถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture : EA) ขององค์กรเพื่อให้เกิดการพัฒนาสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล เป็นไปตามพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562