หลักการและเหตุผล

     ปัจจุบันกรมทางหลวงได้นำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการปฏิบัติงานขององค์กร โดยได้พัฒนาระบบงานสารสนเทศต่างๆเพื่อสนับสนุนการทำงานตามภารกิจด้านต่างๆของกรมทางหลวง อย่างไรก็ตามระบบงานสารสนเทศเหล่านั้นยังไม่มีการบูรณาการให้เกิดความสอดคล้องกัน ซึ่งการบูรณาการของระบบสารสนเทศนั้นมีความสำคัญและจำเป็นต่อองค์กรมาก แนวทางคือการออกแบบ “สถาปัตยกรรมองค์กร” (Enterprise Architecture) ใหม่ โดยบูรณาการ “วิสัยทัศน์และแผนงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ” ให้สอดคล้องกับ “ทิศทางและนโยบายธุรกิจขององค์กร” ให้เน้นภาพพิมพ์เขียว และกลวิธีที่จะช่วยในการบริหารจัดการด้านไอทีให้สอดคล้อง และตอบสนองความต้องการขององค์กร การประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในองค์กรไม่ใช่เฉพาะจากหน่วยงานด้านไอทีเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้กิจกรรมไอทีเป็นกิจกรรมที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และเป็นกิจกรรมในเชิงรุกเพื่อขับเคลื่อนทุกกิจกรรมขององค์กรให้มุ่งไปข้างหน้าในทิศทางเดียวกัน มีการเกื้อหนุนซึ่งกันและกันเพื่อผลประโยชน์สูงสุดขององค์กร และที่สำคัญคือมีความสอดคล้องกับแผนธุรกิจและนโยบายขององค์กรด้วย

     การนำหลักการของ “สถาปัตยกรรมองค์กร” มาประยุกต์ใช้จะช่วยทำให้มีการกำหนดทิศทางด้านนโยบายทั้งด้านวิสาหกิจและด้านไอที พันธกิจและกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีประโยชน์ทั้งด้านการกำหนดแผนงาน การขับเคลื่อนการพัฒนาระบบงาน และ การกำกับควบคุมระบบในระหว่างการใช้งานด้วย “สถาปัตยกรรมองค์กร” ประกอบด้วยมุมมองในการพัฒนาทั้งด้านการวิเคราะห์กระบวนการปัจจุบันและการนำเสนอกระบวนการทางธุรกิจใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม (Business Architecture) มุมมองด้านธุรกรรมเอกสารและข้อมูล (Data Architecture) มุมมองด้านฟังก์ชั่นการทำงานของระบบงาน (Application Architecture) และ มุมมองด้านเทคนิค (Technology Architecture) การจัดทำแผนและการบริหารการเปลี่ยนแปลง

     ดังนั้นการออกแบบ “สถาปัตยกรรมองค์กร” ใหม่ของกรมทางหลวงจะเป็นแนวทางบูรณาการระบบทุกภาคส่วนขององค์กร ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการทำงานของกรมทางหลวงได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต