แนวคิดในการจัดทำรายงานสถาปัตยกรรมองค์กร (Enterprise Architecture)

     การลงทุนและพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อปรับเปลี่ยนกรมทางหลวงให้ไปสู่องค์กรดิจิทัล จำเป็นต้องพิจารณาความสอดคล้องระหว่าง นโยบาย พันธกิจ และกระบวนการปฏิบัติงานกับยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบสารสนเทศที่พัฒนาขึ้นมานั้นสามารถสนับสนุนการดำเนินงานของกรมทางหลวงเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ การจัดทำสถาปัตยกรรมขององค์กร (Enterprise Architecture) ในปัจจุบันของกรมทางหลวงสามารถช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานเกิดความเข้าใจสถานภาพปัจจุบันของกรมทางหลวงได้เป็นอย่างดี ซึ่งสถาปัตยกรรมดังกล่าวนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองความสอดคล้องของเทคโนโลยีสารสนเทศในแง่การนำมาใช้เพื่อสนับสนุนพันธกิจ/ภารกิจ การสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูล และความสามารถในการทำงานร่วมกันได้กับการปฏิบัติงานในปัจจุบัน ดังนั้นโครงการนี้จึงมีแนวคิดการจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กรมาใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาสถานภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์และออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กรที่ต้องการในอนาคต องค์ประกอบของแนวคิดดังกล่าวนี้สามารถดังแสดงในรูปที่ 1


รูปที่ 1 แผนภูมิการบริหารงานเชิงกลยุทธ์โดยใช้สถาปัตยกรรมองค์กรเป็นเครื่องมือ
[ที่มา: http://www.enterprise-architecture.info/Images/Extended%20Enterprise /Extended%20Enterprise%20Architecture2.htm#_ftn1]

     สถาปัตยกรรมองค์กรเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง 4 องค์ประกอบหลักขององค์กร คือ สถาปัตยกรรมด้านธุรกรรม (Business Architecture) สถาปัตยกรรมข้อมูล (Data Architecture) สถาปัตยกรรมระบบงาน (Application Architecture และสถาปัตยกรรมด้านเทคโนโลยี (Technology Architecture) ดังแสดงในรูปที่ 2


รูปที่ 2 แผนภาพองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมองค์กร
[ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Enterprise_architecture_framework#/media /File:Layers_of_the_Enterprise_Architecture.jpg]

     รายละเอียดของสถาปัตยกรรมองค์กรทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย
     1) สถาปัตยกรรมธุรกิจ (Business Architecture) อธิบายเกี่ยวกับกรอบทิศทางในเชิงนโยบาย และ วิสัยทัศน์ขององค์กร รวมทั้งต้องมีการนำเสนอขั้นตอนกระบวนงานที่สนใจ ซึ่งมักจะต้องวิเคราะห์การดำเนินการทั้งโดยบุคคลและระบบงานซึ่งทำงานร่วมกับข้อมูลและระบบงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การจัดทำสถาปัตยกรรมธุรกิจนี้จะช่วยให้ที่ปรึกษาเข้าใจวิธีการปฏิบัติงานของแต่ละสำนักและทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน ซึ่งปัญหาบางอย่างสามารถใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์มาช่วยแก้ปัญหาได้
     2) สถาปัตยกรรมข้อมูล (Data Architecture) อธิบายเกี่ยวกับกลุ่มของข้อมูลซึ่งแต่ละองค์กรอาจมีมุมมองในการใช้ข้อมูลที่แตกต่างกัน อาทิ หากองค์กรต้องการบูรณาการข้อมูลให้ระบบภายในหน่วยงานสามารถเชื่อมโยงกันได้ สถาปัตยกรรมข้อมูลก็จะต้องมีรายละเอียดโครงสร้างฐานข้อมูล และตำแหน่งข้อมูล เพื่อให้นักพัฒนาระบบสามารถเข้าถึงและดึงออกมาใช้งานได้ อย่างไรก็ตามระดับการใช้งานสถาปัตยกรรมข้อมูลตามขอบเขตงานของโครงการนี้อยู่เพียงแค่ ตำแหน่งข้อมูล (Data Location) และ การไหลของข้อมูล (Data Logistics) ซึ่งสถาปัตยกรรมข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้ทราบว่าข้อมูลที่สำคัญของแต่ละสำนักคืออะไร และข้อมูลดังกล่าวนั้นมีที่มาจากไหนและถูกใช้งานโดยใคร ข้อมูลในส่วนนี้จะช่วยให้ สามารถวางแผนการพัฒนาระบบเชิงบูรณาการที่ช่วยลดความซ้ำซ้อนของข้อมูลได้
     3) สถาปัตยกรรมระบบงาน (Application Architecture) อธิบายเกี่ยวกับองค์ประกอบของระบบงานและการเชื่อมโยงระหว่างระบบงานต่าง ๆ ของแต่ละสำนัก นอกจากสถาปัตยกรรมระบบงานจะอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ถึงระบบงานอื่นแล้ว สำหรับโครงการนี้จำเป็นต้องวิเคราะห์รายละเอียดการพัฒนาระบบ เช่น ภาษาและระบบฐานข้อมูลที่ใช้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้พัฒนา และ ปีที่เริ่มใช้งาน เพื่อให้สามารถวางแผนการปรับปรุงหรือจัดหาระบบงานหรืออุปกรณ์ที่สามารถนำมาทดแทนได้
     4) สถาปัตยกรรมเทคโนโลยี (Technology Architecture) อธิบายเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น คุณลักษณะเฉพาะทางเทคนิคด้านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่าย ระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่าย อุปกรณ์ประกอบอื่นๆ ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ และรายละเอียดที่สำคัญ ข้อมูลที่ได้จากการจัดทำสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้สามารถวางแผนการจัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในโครงการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ในการจัดซื้อจัดจ้าง

     จากสถาปัตยกรรมองค์กรทั้ง 4 ด้าน จะเห็นได้ว่าการจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กร จะช่วยให้ผู้บริหารงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทราบกระบวนการทำงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญของแต่ละสำนัก ปัญหาในการปฏิบัติงาน ความซ้ำซ้อนและความเชื่อมโยงของข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน คุณลักษณะของระบบงาน และโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้สนับสนุนการดำเนินงานในปัจจุบัน ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในโครงการที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำสถาปัตยกรรมในอนาคต (To-Be Architecture)

     นอกจากนี้การมีสถาปัตยกรรมองค์กรยังช่วยให้ผู้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในอนาคตสามารถออกแบบระบบฐานข้อมูลที่มีความสอดคล้องกับกระบวนการทำงานและสามารถเชื่อมโยงกับระบบและข้อมูลเดิมที่มีอยู่ได้ โดยแนวทางการจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กรนี้นอกจากการเน้นการมีส่วนร่วมของบุคลากรภายใต้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินภารกิจดังกล่าว อาทิ นโยบายและแนวคิดในการนำองค์กรของผู้บริหาร ความคิดเห็นของผู้ให้บริการ เป็นต้น ดังหลักการที่แสดงในรูปที่ 3 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมองค์กรนั้นจะต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ขององค์กรและตั้งอยู่บนมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติเดียวกัน


รูปที่ 3 แผนภาพโมเดลหลังจากมีการวิเคราะห์องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมองค์กร
[ที่มา http://www.csu.edu.au/special/eac/documents/UoN%20Enterprise%20Architecture%202006-11-01.ppt]

     ปัจจุบันรัฐบาลได้เห็นความสำคัญของการจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กรภายในหน่วยงานภาครัฐเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559 ที่กล่าวถึงสถาปัตยกรรมองค์กรในยุทธศาสตร์ที่ 4 ที่ว่าด้วยการปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลว่าหน่วยงานภาครัฐจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยหากมีการลงทุนตามกรอบของแบบสถาปัตยกรรมองค์กรแล้ว หน่วยงานภาครัฐจะสามารถใช้ทรัพยากรดิจิทัลร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนได้ นอกจากนั้นยุทธศาสตร์ที่ 5 ซึ่งกล่าวถึงการพัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ยังได้ระบุให้ผู้บริหารระดับสูงจะต้องมีความเข้าใจและสามารถวางแผนการนำเทคโนโลยีจีดิจิทัลไปพัฒนาภารกิจขององค์กร ที่สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมองค์กรของหน่วยงาน ตลอดจนสามารถสร้างคุณค่าจากข้อมูลขององค์กรและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะได้